จากประเด็นทางสังคมที่มีการถกเถียง จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า พระสงฆ์รับเงินทองจากญาติโยมได้หรือไม่? หากพูดกล่าวตามหลักของพระวินัยบัญญัติข้อภิกษุที่เกี่ยวกับเงินทองไว้ว่า พระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะรูปใด หรืออยู่วัดใด วัดในเมือง หรือวัดชนบท จะต้องประพฤติปฏิบัติตามเมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ที่มีข้อห้ามไม่ให้พระจับเงินจับทอง ทั้งนี้ หากญาติโยมคนไหนที่มีจิตใจศรัทธา ต้องการถวายปัจจัยให้กับพระสงฆ์ก็สามารถทำได้ โดยไม่ผิดต่อพระวินัย เพียงแต่ว่าจะต้องมีวิธีถวายปัจจัยให้ถูกต้อง ซึ่งในวันนี้เราจะมาบอกเล่าถึงเรื่องนี้กัน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ติดตามอ่านได้ที่บทความนี้
จตุปัจจัย กับ ปัจจัย มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร
“จตุปัจจัย” หมายถึง ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เสนาสนะ และยารักษาโรค โดยเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นอย่างมากกับพระสงฆ์ ถ้าใช้คำว่าการถวายปัจจัยที่ถูกต้องกับพระสงฆ์นั้น จึงหมายถึงการถวายปัจจัย ทั้ง 4 ประการนี้ ปัจจุบันผู้คนสมัยนี้มีความเข้าใจกันว่า การถวายปัจจัย คือการให้เงินและทองกับพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทอง ก็ไม่ได้อยู่ในปัจจัย 4 เลย แถมยังเป็นโทษให้กับพระสงฆ์อีกด้วย หากพระสงฆ์รับเงินและทองจะทำให้ผิดพระวินัยจนอาจทำให้อาบัติได้
พุทธศาสนิกสามารถถวายปัจจัยให้กับพระสงฆ์ได้หรือไม่?
การถวายปัจจัย ในที่นี่หมายถึงการถวาย “เงินและทอง” ซึ่งตามพระวินัยไม่ได้ระบุว่าเป็นข้อห้ามปฏิบัติ ดังนั้น ญาติโยมที่มีจิตใจศรัทธาหากต้องการถวายปัจจัยให้กับพระสงฆ์สามารถทำได้ แต่จะต้องมีวิธีถวายปัจจัยพระให้ถูกต้อง ดังนั้น คำตอบของคำถามนี้ คือ “ถวายปัจจัยให้พระสงฆ์ได้”
วิธีถวายปัจจัยพระที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?
หากพุทธศาสนิกคนใดที่มีจิตใจศรัทธา มีความประสงค์ในการถวายปัจจัยให้กับพระสงฆ์เพื่อให้ท่านไว้ใช้จ่ายซื้อสิ่งของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ควรต้องปฏิบัติตามวิธีถวายปัจจัยพระสงฆ์ ดังนี้
1. เขียนใบปวารณา
พุทธศาสนิกต้องการถวายปัจจัย (เงินหรือทอง) ให้กับพระสงฆ์ ต้องเขียนในใบปวารณา เพื่อบอกกับพระสงฆ์ว่าขอถวายปัจจัย 4 อันควรแก่สมณบริโภค จำนวน………บาท (ถวายจำนวนเท่าไหร่ให้ระบุลงไป) หากพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็โปรดเรียกเอาปัจจัยจากไวยาวัจกร ผู้รับมอบนั้น เทอญฯ
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ใดถวายเงินให้กับพระสงฆ์ จะนิยมถวายเป็นใบปวารณา เพื่อมิให้พระสงฆ์ต้องจับเงินนั่นเอง ทั้งนี้ ใบปวารณา จะเป็นแผ่นกระดาษไว้ให้เขียนจำนวนเงินที่ต้องการถวาย
2. ถวายใบปวารณาให้กับพระสงฆ์
เมื่อเขียนใบปวารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำไปถวายกับพระสงฆ์ได้เลย โดยพระสงฆ์จะรับใบปวารณาแล้วจะรู้เองว่าคุณถวายเงินให้ท่านเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
3. มอบเงินให้กับไวยาวัจกร
จากนั้นให้นำเงินที่ต้องถวายใส่ซอง พร้อมระบุจำนวนเงินไว้ แล้วนำไปมอบให้กับไวยาวัจกรหรือลูกศิษย์ เพื่อให้เป็นผู้เก็บดูแลเงินให้กับพระสงฆ์นั่นเอง ถ้าพระสงฆ์ขาดแคลนสิ่งใด หรือจะซื้ออะไร ท่านก็จะแจ้งกับไวยาวัจกรให้ไปจัดหามาให้ท่านเอง
ทั้งหมดนี้ คือ วิธีถวายปัจจัยพระสงฆ์ที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกควรปฏิบัติตาม ถ้าใครไม่สะดวกในการเขียนใบปวารณา ให้คุณบอกพระด้วยวาจาได้เช่นกัน ขอเพียงแค่อย่าถวายปัจจัย (เงินหรือทอง) ให้กับพระสงฆ์เอง เพราะหากท่านรับเงินด้วยมือของท่านโดยตรง ก็เท่ากับว่าตัวคุณมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้พระสงฆ์ทำผิดพระวินัยด้วย
คำถวายเงินทำบุญ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะสุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ
ขอให้ทาน ของข้าพเจ้า อันให้ดีแล้วหนอ จงนำมาซึ่ง ความสิ้นไป
แห่งอาสวกิเลส จงเป็นปัจจัยแก่ พระนิพพาน ฯ
ทำบุญกับพระสงฆ์ได้ที่ไหนบ้าง
พุทธศาสนิกที่มีจิตศรัทธา อยากทำบุญกับพระสงฆ์ แต่กังวลว่าการให้ปัจจัย (เงินหรือทอง) กับพระสงฆ์โดยตรงจะทำให้พระสงฆ์ผิดพระวินัย คุณสามารถเลือกทำบุญด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ เช่น โรงพยาบาลสงฆ์ มีให้เลือกว่าอยากทำบุญช่วยเหลือด้านอะไร ไม่ว่าจะเป็นการถวายภัตตาหาร เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ บำรุงโลหิต หรือบำรุงทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้ การทำบุญไม่ได้จำกัดเพียงแค่การถวายปัจจัยให้กับพระอย่างเดียว คุณสามารถทำบุญด้วยวิธีอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
อ่านมาถึงตรงนี้หากใครชอบก็ส่งต่อให้เพื่อนพี่น้องอ่านเพื่อเป็นการให้ในรูปแบบหนึ่ง และหากใครที่จำเป็นต้องสั่งพวงหรีดไปงาน ก็สามารถสั่งได้ที่ร้านพวงหรีดของเรา เพราะเราพร้อมให้บริการทุกท่านตลอดเวลา